เกลือดำ มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และมีข้อควรระวังในการบริโภคอย่างไร?
เกลือดำ (Black Salt) มีกลิ่นเฉพาะตัวและรสชาติเบาไม่เค็มมากเหมือนเกลือแกงทั่วไป นิยมนำมาปรุงแต่งอาหารมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยบรรเทาอาการท้องอืด ช่วยบำรุงผิว เกลือดำ มีหลายชนิด เช่น เกลือดำหิมาลัย หรือเกลือดำหิมาลายัน ควรบริโภคเกลือดำในปริมาณที่พอเหมาะ และศึกษาข้อควรระวังในการบริโภคเกลือดำด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ ควรบริโภคเกลือตามคำแนะนำจากองค์การอนามัยโลก ผู้ใหญ่ควรบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือ 5 กรัมต่อวัน
สมุนไพรและเครื่องเทศ
เกลือดำ (Black Salt) เป็นเกลือสินเธาว์ชนิดหนึ่ง เกลือธรรมชาติมีลักษณะคล้ายหินก้อนเล็ก ๆ นิยมนำมาประกอบอาหาร และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ เช่น บรรเทาอาการท้องอืด ช่วยบำรุงผิว อย่างไรก็ตาม ควรบริโภคเกลือดำในปริมาณที่พอเหมาะ และศึกษาข้อควรระวังในการบริโภคเกลือดำด้วย เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดปัญหาสุขภาพ
เกลือดำ คืออะไร
เกลือดำ (Black Salt) เป็นเกลือประเภทเดียวกับเกลือสินเธาว์ที่พบได้มากที่สุดในประเทศแถบเทือกเขาหิมาลัย ปากีสถาน บังคลาเทศ อินเดีย และเนปาล เกลือดำมีลักษณะคล้ายก้อนหินก้อนเล็ก ๆ โดยมีความแตกต่างเรื่องรสชาติ แหล่งที่มา และกระบวนการผลิต จากเกลือแกงทั่วไป
เกลือสีดำให้รสสัมผัสเบากว่าเกลือแกงที่ใช้ประกอบอาหาร เกลือดำไม่เค็มมากเท่ากับเกลือสีขาวทั่วไปที่มีปริมาณของโซเดียมถึง 75% ทั้งยังอาจยังมีแร่ธาตุที่ให้ประโยชน์ได้มากกว่า
เกลือดำ มีกี่ชนิด
โดยเกลือสีดำแบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ๆ ดังนี้
เกลือลาวาสีดำ (Black Lava Salt)
เกลือลาวาสีดำ (Black Lava Salt) เกลือประเภทนี้พบมากในหมู่เกาะฮาวาย เกลือลาวาสีดำมีสีดำจากการปนเปื้อน หรือมีการเติมถ่านกัมมันต์ (Activated Carbon) ลงไป รสชาติอาจแตกต่างจากเกลือชนิดอื่น ๆ เพราะมีกลิ่นไอดินจากธรรมชาติปะปนอยู่ นิยมใช้เพื่อโรยบนหน้าอาหารเพื่อเพิ่มอรรถรสเท่านั้น
เกลือดำหิมาลัย (Himalayan Black Salt หรือ Kaala Namak)
เกลือดำหิมาลัย (Himalayan Black Salt) ต่างจากเกลือลาวาสีดำชนิดอื่นตรงที่สีดำจะไม่ดำสนิท อาจออกเป็นน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นเฉพาะตัวคล้ายกลิ่นกำมะถัน นิยมนำมาใช้ปรุงอาหาร เพื่อช่วยลดกลิ่นหรือรสชาติของอาหารที่มีกลิ่นค่อนข้างฉุน ลดความเผ็ดให้น้อยลงได้ นิยมใช้ในปรุงอาหารประเภทมังสวิรัติ
เกลือดำพิธีกรรม หรือเกลือแม่มด (Black Ritual Salt)
สาเหตุที่ถูกเรียกเช่นนี้ เพราะสมัยก่อนมีความเชื่อกันว่า เป็นเกลือที่ถูกนำมาลบล้าง หรือใช้ในพิธีกรรมในทางไสยศาสตร์ สามารถพกติดตัวเพื่อป้องกันสิ่งไม่ดีได้ อย่างไรก็ตาม เกลือดำพิธีกรรมไม่นิยมนำมาบริโภคเท่าใดนัก เพราะส่วนใหญ่ไม่ทราบที่มาของสีที่นำมาย้อม อาจไม่ใช่เกลือธรรมชาติหรืออาจเป็นเกลือไม่บริสุทธิ์
ประโยชน์ของการรับประทานเกลือดำ
องค์การอนามัยโลกแนะนำว่าผู้ใหญ่ควรบริโภคโซเดียมน้อยกว่า 2,000 มิลลิกรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือ 5 กรัมต่อวัน ซึ่งเกลือดำมีปริมาณของโซเดียมน้อยกว่าเกลือ (Salt) ทั่วไป และอาจมีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้
เกลือดำช่วยบรรเทาอาการท้องอืด
ในการรับประทานอาหารแต่ละมื้อของเราไม่สามารถรับรู้ได้เลยว่า ร่างกายของเราได้สิ่งใดเข้าไปได้บ้าง ซึ่งบางครั้งอาจทำให้สุขภาพการย่อยอาหารของคุณมีการทำงานผิดปกติส่งผลให้คุณท้องอืด ท้องผูก ร่วมด้วย ดังนั้น การที่คุณมีการปรุงอาหารที่ประกอบด้วยเกลือดำ อาจทำให้แร่ธาตุเหล่านี้เข้าไปช่วยปรับปรุงปัญหาของลำไส้ ที่เกิดจากกรดไหลย้อนได้
เกลือดำช่วยป้องกันตะคริว
เกลือดำประกอบด้วยโพแทสเซียมที่มีปริมาณเพียงพอต่อร่างกาย และเป็นสารอาหารสำคัญในการเพิ่มการทำงานของกล้ามเนื้อ และช่วยให้กล้ามเนื้อดูดซับแร่ธาตุอื่น ๆ มาแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานได้ดี จึงอาจทำให้อาการตะคริว อาการกระตุกของกล้ามเนื้อลดลง
เกลือดำช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต
สำหรับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพเกี่ยวกับการอุดตันในเส้นเลือด หรือคอเลสเตอรอลในเส้นเลือดมากเกินเกณฑ์มาตรฐาน การทานเกลือดำในระดับที่พอดี อาจทำให้เข้าไปช่วยปรับการไหลเวียนของโลหิตได้ เพราะเกลือดำเปรียบคล้ายกับชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ยาเจือจางเลือด (Blood Thinner)” แต่มาในรูปแบบธรรมชาติไร้สารเคมีปะปน
เกลือดำช่วยบำรุงผิวพรรณ
นกเหนือจากการนำมาปรุงอาหารแล้ว เกลือดำยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ และยังสามารถใช้นำมาขัดผิวกายให้แลดูเปล่งปลั่ง เช่น บริเวณส้นเท้าที่แตกลาย ข้อศอก เป็นต้น
ผลข้างเคียงของ เกลือดำ ที่อาจกระทบต่อสุขภาพ
ถึงเกลือดำจะมีปริมาณโซเดียมน้อยกว่าเกลือสีขาวทั่วไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ควรบริโภคมากเท่าไหร่ก็ได้ต่อวัน เนื่องจากยังคงมีรสชาติที่ให้ความเค็ม หากผู้ที่รับประทาน หรือผู้ที่มีภาวะสุขภาพบางอย่างทานเกินกว่าร่างกายจะรับได้ไหว อาจทำให้ความดันโลหิตของคุณนั้นพุ่งสูงขึ้น
อีกทั้งสำหรับสตรีตั้งครรภ์ควรหลีกเลี่ยงเกลือประเภทนี้อย่างเด็ดขาด เพราะเกลือดำมีส่วนประกอบของถ่านกัมมันต์ จึงอาจก่อให้เกิดการย่อยยาก และอาจทำให้ทารกในครรภ์ได้รับความเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตอีกด้วย